หมวดหมู่ประเภทกฎหมาย ฎีกาวิเคราะห์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8902/2543 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (มาตรา 6 (3), 8 (11) )

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8902/2543                                
                                บริษัท สมิธไคล์น บีแซม (ออสเตรเลีย) พีทีวาย ลิมิเต็ด     โจทก์
                                บริษัท บางกอกแล็บ แอนด์คอสเมติค จำกัด                        จำเลย

พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6 (3), 8 (11)

     เครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และจำเลยประกอบด้วยคำว่า ZENTEL และ ZENTAB เป็นสาระสำคัญ ตัวอักษรต่างกันเพียง 2 ตัวสุดท้าย ลักษณะการวางรูปแบบและขนาดตัวอักษรเหมือนกัน ส่วนเสียงเรียกขานก็แตกต่างกันเล็กน้อย เช่นกัน โดยใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ทั้งสาธารณชนจำนวนมากมิได้มีความรู้ในภาษาอังกฤษหรือตัวอักษรโรมัน ย่อมยากที่จะสังเกตข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ ถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้

     โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า “ZENTEL, กับรูปประดิษฐ์ผู้ชายผู้หญิงและเด็กชาย 4 คน” และอักษรไทยคำว่า “เซนเทล” โดยใช้สินค้าจำพวกที่ 5 ได้แก่ ยารักษาโรคพยาธิที่โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายมาเป็นเวลาช้านานโดยได้โฆษณาสินค้าดังกล่าวในประเทศต่าง ๆ จนแพร่หลาย และโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ZENTEL” กับรูปประดิษฐ์ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กรวม 4 คน” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2527 อักษรโรมันในคำว่า “ZENTEL” และอักษรไทยคำว่า “เซนเทล” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2530 จำเลยได้ใช้และยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ZENTEL” สำหรับสินค้าจำพวกที่ 5 ได้แก่ยารักษาโรคพยาธิเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538 โจทก์จึงได้ยื่นคำคัดค้านนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยยกคำคัดค้านและยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามลำดับ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า ZENTEL ดีกว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า ZENTAB ของจำเลย และสั่งให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 295548 หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้า ZENTAB และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 200,000 บาท ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะถอนคำขอและเลิกใช้เครื่อหงมายการค้าดังกล่าว

     จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ZENTAB อ่านว่า เซนแทบ ซึ่งมีรูปลักษณะและเสียงเรียกขานแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

     ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “...มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “ZENTAB” ของจำเลยเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “ZENTEL” ของโจทก์หรือไม่ และใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่ากัน เห็นว่า เครื่องหมายการค้าทั้งของโจทก์และจำเลยประกอบด้วยคำว่า ZENTEL และ ZENTAB เป็นสาระสำคัญซึ่งคำ 2 คำ ดังกล่าวต่างใช้ตัวอักษรโรมัน 6 ตัว และเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เหมือนกัน มีตัวอักษรที่เรียง 4 ตัวแรก คือ “ZENT” เหมือนกัน ต่างกันเพียงอักษรสองตัวท้าย คือ “EL” กับ “AB” เท่านั้น ทั้งลักษณะของการวางรูปแบบตัวอักษรและขนาดของตัวอักษรที่เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเหมือนกันนับได้ว่าลักษณะของคำ 2 คำ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านี้มีส่วนแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเรียกขานว่า “เซนเทล” กับ “เซนแทบ” ตามลำดับซึ่งแตกต่างกันเล็กน้อยเช่นกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ใช้คำ 2 คำดังกล่าวเป็นสาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าซึ่งมีรูปลักษณะและสำเนียงเรียกขานแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยและใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันและเมื่อคำนึงถึงว่าสาธารณชนจำนวนมากมิได้มีความรู้ในภาษาอังกฤษ หรือตัวอักษรโรมัน ย่อมยากที่จะสังเกตถึงข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจึงอาจสับสนหลงผิดได้ ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพึงจะรับจดทะเบียนให้ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) จำเลยย่อมไม่มีสิทธิใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

     พิพากษากลับ ห้ามจำเลยใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ZENTAB ต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ZENTAB

(     ยงยศ  นิสภัครกุล   -    พินิจ  เพชรรุ่ง   -    สุรศักดิ์  กาญจนวิทย์   )


หมายเหตุ

     คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ มีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับว่าเครื่องหมาย ZENTEL ของโจทก์กับ ZENTAB ของจำเลยคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนินของสินค้าหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 8 (11) ซึ่งจะทำให้เครื่องหมายของจำเลยต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน

     ศาลฎีกาในคดีนี้ใช้เหตุผลหลักในการวินิจฉัยความคล้ายโดยอาศัยเทียบเคียงคำทั้งสองนี้ใน 2 ลักษณะ คือ

     1.  ลักษณะของตัวอักษรในคำทั้งสองนี้ที่เห็นได้ด้วยตา
     2.  เสียงอ่านของคำทั้งสองนี้
      ศาลฎีกาเห็นว่าลักษณะทั้งสองนี้แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยมีเหตุผลประกอบคำวินิจฉัยดังกล่าวด้วยว่า
                1.  เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน (ยารักษาโรคพยาธิ)
                2.  สาธารณชนจำนวนมากมิได้มีความรู้ในภาษาอังกฤษที่จะสังเกตความแตกต่าง

     ซึ่งเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเป็นไปในทำนองเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8512/2538 แต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8512/2538 นั้นให้เหตุผลประกอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของเม็ดยาและบรรจุภัณฑ์ว่า ทั้งเม็ดยา (ยาระบายใช้แก้อาการท้องผูก) และซองบรรจุมีลักษณะกลมนูน มีขนาดเท่ากับ เม็ดยามีผิวเคลือบสีน้ำตาล

     สำหรับข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางนำสืบของคดีที่กำลังหมายเหตุอยู่นี้นั้น ได้ความด้วยว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้รวม 3 แบบ คือ คำว่า “ZENTEL” ZENTEL กับรูปประดิษฐ์ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กรวม 4 คน และอักษรไทยคำว่า “เซนเทล” โดยโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าทั้ง 3 แบบ มารวมใช้ด้วยกันบนบรรจุภัณฑ์ของโจทก์ให้สีเป็นโทนสีแดง เหลือง และส้มบนพื้นสีขาว ซึ่งบรรจุภัณฑ์นี้ใช้บรรจุแผงยาที่เป็นอลูมิเนียมฟรอยด์อีกชั้นหนึ่ง ส่วนของจำเลยนั้นให้โทนสีขาว เขียว บนพื้นที่สีน้ำเงินกับมีรูปพยาธิชนิดต่าง ๆ ประกอบอยู่ ส่วนลักษณะและสรรพคุณของเม็ดยานั้นได้ความว่ามีตัวยาสามัญเหมือนกัน รับประทานครั้งละ 2 เม็ดและมีขนาด 200 มิลลิกรัมเท่ากัน โดยตัวเม็ดยาเป็นสีขาวเหมือนกันซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเห็นว่า ลักษณะบรรจุภัณฑ์นั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างของสินค้าของโจทก์และจำเลย ส่วนความเหมือนกันของขนาดลักษณะ และสีของเม็ดยาที่บรรจุอยู่ภายในนั้น เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจะเห็นได้เมื่อซื้อไปใช้แล้ว

     นอกจากนี้ ยังได้ความว่าลักษณะการจำหน่ายสินค้าประเภทนี้มีการจัดเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ไว้ในร้านขายยา ผู้ขายจะเป็นผู้สอบถามและหยิบยาให้แก่ผู้ซื้อ รวมทั้งผู้ขายอาจเลือกหยิบยาของผู้ผลิตที่เสนอผลตอบแทนการขายให้แก่ผู้ขายมากที่สุดด้วย ด้วยเหตุนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จึงเห็นว่า สินค้าประเภทนี้แตกต่างจากสินค้าจำพวกอุปโภคบริโภคประจำวัน ซึ่งผู้ซื้อต้องเลือกและหยิบสินค้าที่ต้องการเอง

     ศาลในต่างประเทศใช้เกณฑ์หลายประการในการวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าสองเครื่องหมายที่เป็นปัญหา อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดหรือไม่เกณฑ์ที่ว่านี้ได้แก่
        1.  ความแข็งแกร่งของเครื่องหมายการค้าในแง่ที่ว่าเป็นที่รู้จักแพร่หลายเพียงใด
        2.  ความเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกันของตัวสินค้า
        3.  ความคล้ายคลึงกันของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง
        4.  ความสับสนหลงผิดของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ
        5.  ช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้งสองชนิด
        6.  ประเภทของสินค้าและลักษณะการใช้ความระมัดระวังของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้านั้น ๆ
        7.  เจตนาในการเลือกใช้เครื่องหมายการค้าที่มีปัญหา
        8.  ความเป็นไปได้ที่สินค้าของจำเลยจะแข่งขันกับสินค้าของโจทก์ จนมียอดขายเพิ่มมากขึ้นจากการใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาท
        9.  ความคล้ายคลึงกันในการโฆษณาสินค้าทั้งสองตามสื่อต่าง ๆ 2

     ในเมื่อเกณฑ์ที่ใช้ได้มีหลายประการเช่นนี้ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าจะต้องพิจารณาเกณฑ์ทั้งหมดให้ได้ความว่าอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด หรือว่าเพียงแต่เลือกหยิบยกเอาเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งขึ้นพิจารณาให้ได้ความก็เพียงพอแล้ว ถ้าเช่นนี้ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นว่าแล้วศาลควรจะให้น้ำหนักแก่เกณฑ์ข้อใดมากน้อยเพียงใดหรือควรถือว่าเกณฑ์ทุกข้อมีน้ำหนักเท่าเทียมกันในการตอบปัญหาดังกล่าว ซึ่งก็แล้วแต่ศาลจะเลือกเอาเกณฑ์ใดขึ้นใช้วินิจฉัยปัญหา

     แต่อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติทนายความของคู่ความก็มักพยายามจะนำสืบข้อเท็จจริงให้ศาลเห็นว่า มีข้อเท็จจริงที่เข้าเกณฑ์หรือไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้นให้มากที่สุด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพของข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป

     สำหรับผู้เขียนนั้นเห็นว่า ในการที่ศาลจะวินิจฉัยปัญหาเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่หลากหลายแง่มุม ทั้งนี้โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแต่เกณฑ์ในเรื่องความคล้ายคลึงของคำที่ใช้อยู่ในเครื่องหมายนั้น ๆ เป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสินค้าแต่ละประเภทย่อมมีลักษณะจำเพาะนับตั้งแต่รูปทรงของสินค้า บรรจุภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่าย ลูกค้าเป้าหมาย และรวมทั้งลักษณะการขายก่อนถึงมือผู้บริโภคกับโอกาสในการเข้าถึงตัวสินค้านั้น ๆ โดยผู้บริโภคเองด้วย ทั้งนี้เพราะปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้โอกาสของความสับสนหรือหลงผิดอาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ด้วย

สอนชัย    สิราริยกุล
1  Robert P. Merges, Intellectual property in the New Technological Age, 1997 p. 635-642

2  Virginia S. Taylor, J. David Mayberry and Theodor H. David, Jr., Acquisition of Trademark Rights Under United States Law in Intellectual Property Desk Reference Patent, Trademarks, Copyright, Trade Secrets and Unfair Competition, 1997 p. 19-20.

 อ้างอิง : คำพิพากษาศาลฎีกา เล่มที่ 9, สำนักงานศาลยุติธรรม, พ.ศ.2543

 

หมายเหตุ: ข้อมูลหรือบทความที่ปรากฏในเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้น
โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อการศึกษา, วิจัยกฎหมายและแนะนำผลงานของผู้เขียนข้อมูลหรือบทความนั้นๆ เพื่อให้เกิด
ความเข้าใจในกฎหมาย และมุ่งประโยชน์ ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ โดยมิได้กระทำเพื่อหากำไรในทางการค้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น